E-Commerce เกิดขึ้นจากความต้องการประสบความสำเร็จของธุรกิจ ซึ่งความสำเร็จของธุรกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานภายในองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีกด้วย เช่น สภาพเศรษฐกิจ สังคม คู่แข่งและเทคโนโลยี เป็นต้น ในที่นี้จึงขอจำแนกแรงผลักดันให้มีการพัฒนา E-Commerce ออกเป็น2 ประการ คือ
1. การปฏิวัติสู่ยุคดิจิตอล
เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิด E-Commerce ดังจะเห็นได้จากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการสนทนา ติดต่อสื่อสาร หรือการค้นหาข้อมูล ล้วนนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ทั้งสิ้น เรียกว่า เศรษฐกิจแบบดิจิตอล
เศรษฐกิจแบบดิจิตอล หมายถึง การทำเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานจากการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้งาน ได้แก่ เครือข่ายการติดต่อสื่อสารแบบดิจิตอล เช่น คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น
2. สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ (Business Environment)
หมายถึง ปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กร ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประการ
1. แรงผลักดันทางการตลาดและสภาพเศรษฐกิจ (Market and Economic Pressure) เช่น ความรุนแรงของการแข่งขันในตลาด การรวมกลุ่มทางการค้า หรืออำนาจในการต่อรองของลูกค้า
2. แรงผลักดันทางสังคม (Societal Pressure) เช่น กฎหมายหรือนโยบายทางรัฐที่ส่งผลต่อธุรกิจ ความรับผิดชอบต่อสังคม จรรยาบรรณทางธุรกิจ
3. แรงผลักดันทางเทคโนโลยี (Technology Pressure) เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เทคโนโลยีที่มีอยู่ล้าสมัยเร็วกว่าอายุการใช้งานจริง
แบบจำลองทางธุรกิจของ E-Commerce
แบบจำลองทางธุรกิจ (Business Model) หมายถึง วิธีการดำเนินธุรกิจที่ช่วยสร้างรายได้อันจะทำให้บริษัทสามารถดำรงอยู่ได้ นอกจากนี้ ยังรวมถึงกิจกรรมที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Add) ให้กับสินค้าและบริการด้วย ซึ่ง กิจกรรมเหล่านี้สามารถวิเคราะห์ได้จากตัวแบบห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain Model)
โครงสร้างของแบบจำลองทางธุรกิจ
1. Value Proposition เป็นหัวใจสำคัญของแบบจำลองทางธุรกิจ
2. Revenue Model
3. Market Opportunity
4. Competitive Environment
5. Competitive Advantage
6. Market Strategy
7. Organization Development
8. Management Team
แบบจำลองทางธุรกิจของ E-Commerce
1. การตลาดขายตรงออนไลน์ (Online Direct Marketing) เป็นแบบจำลองที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเป็นแบบจำลองที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์
2. การประมูลออนไลน์ (Online Auction) เป็นแบบจำลองที่ผู้สนใจเข้าไปยื่นเสนอราคาประมูล เพื่อซื้อสินค้าจากผู้ขายผ่านระบบออนไลน์
3. ระบบการยืนประมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Tendering System) เป็นแบบจำลองที่ใช้กับผู้ซื้อที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีมูลค่าการซื้อจำนวนมาก
4. การตลาดออนไลน์โดยใช้ตัวแทนเพื่อโฆษณาสินค้า (Affiliate Marketing) เป็นแบบจำลองที่เป็นการทำธุรกิจร่วมกันระหว่างผู้ขายสินค้าและบริษัทตัวแทนรับฝากโฆษณา โดยการฝากชื่อลิงค์ของบริษัทผู้ขาย
5. การรวมกลุ่มกันซื้อ (Group Purchasing) เป็นแบบจำลองที่ใช้เพื่อเป็นข้อต่อรองในการซื้อขายสินค้า โดยการรวมกลุ่มกันซื้อเพื่อให้ได้ส่วนลด
6. การสั่งทำสินค้าและบริการ (Product and Service Customization) เป็นแบบจำลองที่อนุญาตให้ลูกค้าสามารถสั่งทำสินค้าและบริการตามที่ต้องการได้ผ่านทางเว็บไซต์
7. การสมัครสมาชิก (Membership) เป็นแบบจำลองที่ให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่สมัครเป็นสมาชิก
8. การกำหนดราคาที่ต้องการด้วยตนเอง (Name Your Own Price) เป็นแบบจำลองที่ผู้ซื้อสามารถกำหนดราคาสินค้าและบริการตามวงเงินที่ตนเองมีอยู่
9. บล็อกและชุมชนเพื่อการติดต่อสื่อสาร (Communication and Blogging) เป็นแบบจำลองที่นำเครือข่ายการติดต่อสื่อสารมาใช้ประโยชน์ทางการค้า